ประวัติ ของ หนู มิเตอร์

จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ทำงานในวงการเพลง ด้วยการเป็นโปรดิวเซอร์ แต่งเพลง และมือกีตาร์ จนได้รับฉายาว่า กีตาร์มิเตอร์ เนื่องจากโปรดิวเซอร์มักจะตะโกนสั่งว่า "กดมิเตอร์เลยหนู" เนื่องจากในสมัยนั้น กรุงเทพฯเพิ่งจะมีรถแท็กซี่มิเตอร์เป็นครั้งแรก (ปี พ.ศ. 2535) หนู มิเตอร์ทำเพลงหลากหลายแนว ทั้งป็อป, ร็อก และลูกทุ่ง มีผลงานการเป็นโปรดิวเซอร์ ให้กับศิลปินในสังกัดอาร์. เอส. โปรโมชั่น เช่น ปฏิวัติ เรืองศรี

ในปี พ.ศ. 2537 หนู มิเตอร์ ได้ออกอัลบั้มของตัวเองเป็นชุดแรก ชื่อ "นิราศป่าปูน" กับค่ายรถไฟดนตรี เป็นเพลงแนวลูกทุ่งเพื่อชีวิต ได้รับความนิยมทันที เพลงที่ได้รับความนิยม เช่น ข้างหลังภาพ เป็นต้น ซึ่งเพลงในอัลบั้มนิราศป่าปูน มีผู้แต่งเนื้อร้อง/ทำนอง เกือบทุกเพลงโดย แพงคำ(ผดุง) ป้องจันลา ยกเว้นเพลง "ขอหมอนใบนั้น ที่เธอฝันยามหนุน" ซึ่งแต่งคำร้อง-ทำนองโดย หนู มิเตอร์ จากนั้นก็ได้ออกตามมาอีกหลายอัลบั้ม เช่น "แด่เธอผู้เป็นแรงใจ", "เพลงรักจากใจ" เป็นต้น มีเพลงที่ได้รับความนิยมเช่น พบรักปากน้ำโพ, หนุ่มบ้านไกล, ดาวในฝัน หนู มิเตอร์ ยังถือว่าเป็นมือกีตาร์รุ่นเดียวกันกับ ณรงค์ เดชะ วงสเตอ อีกด้วย

หนู มิเตอร์ ยังได้ร่วมทำงานเพลงกับศิลปินอีกหลายคน หลายวง เช่น ธนพล อินทฤทธิ์ ในปี พ.ศ. 2537 ในชุด "ทีของเสือ", คาราบาว ในปี พ.ศ. 2538 ในชุด "15 ปี คาราบาว หากหัวใจยังรักควาย" ด้วยการเป่าขลุ่ย และเล่นกีตาร์ รวมทั้งเล่นกีตาร์ให้อิทธิ พลางกูร ในปี พ.ศ. 2539 อัลบั้ม "อิทธิ 6 ปกขาว", เทียรี่ เมฆวัฒนา ในปี พ.ศ. 2546 ในชุด "จักรวาล" ในฐานะมือกีตาร์

ปัจจุบัน นอกจากทำงานดนตรีแล้ว ยังเป็นผู้บริหารบริษัท มีดี เรคคอร์ด ซึ่งมีที่มาจากภาษาอังกฤษว่า มีเดี่ยม (Medium) แปลว่า กลาง ๆ โดยเจ้าตัวอธิบายว่า เป็นบริษัททำเพลงเพื่อชีวิต เป็นเพลงซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างสตริงกับลูกทุ่ง ในสังกัดของ อาร์.เอส.โปรโมชั่น ต้องประชุม พูดคุยกับตัวนักร้อง นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ เพื่อให้ผลงานที่ออกมามีคุณภาพ มีดีสมชื่อ และที่สำคัญ ต้องไม่ให้ซ้ำกับคนอื่น ต้องสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง ดูแลบัญชี ประชาสัมพันธ์ และทำดนตรีด้วยตัวเองทั้งหมด[1]